ปัญหา & คำแนะนำ
รักษาภาวะมีบุตรยากเริ่มต้นอย่างไรดี
รักษาภาวะมีบุตรยากเริ่มต้นอย่างไรดี?
• แนะนำให้พบแพทย์เฉพาะทางคลินิกรักษาภาวะมีบุตรยาก ก่อนทำการรักษา แพทย์จะตรวจหาสาเหตุและประเมินความสามารถในการเจริญพันธุ์ของคู่สมรสก่อน ดังนี้
1. ตรวจคุณภาพของอสุจิ
2. ตรวจเลือดฝ่ายหญิงดูระดับฮอร์โมนในวันที่ 3 ของรอบเดือน
3. ตรวจภายใน และ ตรวจอุลตราซาวด์ภายในในวันที่ 12-14 ของรอบเดือน
4. ตรวจส่องกล้องทางนรีเวช ( เฉพาะรายที่จำเป็น )
เด็กหลอดแก้วทำอย่างไร
เด็กหลอดแก้วทำอย่างไร?
ขั้นตอนการทำ มีดังนี้
1. พบแพทย์เมื่อมีระดู เพื่อเจาะเลือดดูความพร้อมของระดับฮอร์โมน
2. ฉีดยากระตุ้นรังไข่ประมาณ 7-10 วัน เพื่อให้มีไข่สุกหลายใบ
3. ตรวจอุลตราซาวด์ ติดตามการเจริญเติบโตของฟองไข่
4. เมื่อฟองไข่สุกเต็มที่แล้ว จะให้ยากระตุ้นให้ไข่ตก และนัดหมายฝ่ายหญิงมาทำการเก็บไข่ ฝ่ายชายเก็บอสุจิใน 2 วันถัดไป
5. นำอสุจิที่ผ่านการเตรียมแล้วมาปฏิสนธิกับไข่ที่เก็บได้ในห้องปฏิบัติการ เพื่อให้เป็นตัวอ่อน
6. ปกติจะเพาะเลี้ยงตัวอ่อนนาน 3 วัน สำหรับบลาสโตซิสต์ จะเลี้ยง 5 วัน
7. ทำการย้ายฝากตัวอ่อนในวันที่ 3 หรือ 5 แล้วแต่คุณภาพของตัวอ่อน
8. ให้ยาฮอร์โมนเพื่อป้องกันผนังมดลูกลอกตัวก่อนกำหนด และเป็นการพยุงการตั้งครรภ์ที่อาจเกิดขึ้น
9. เจาะเลือดตรวจการตั้งครรภ์ ภายหลังย้ายฝากตัวอ่อน12-14 วัน
ปวดระดู ตรวจพบพังผืดในอุ้งเชิงกราน จะมีบุตรยากไหม
ปวดระดู ตรวจพบพังผืดในอุ้งเชิงกราน จะมีบุตรยากไหม?
• จะมีภาวะมีบุตรยากหากตรวจพบพังผืดในอุ้งเชิงกรานที่มีการยึดติดมาก หรือมีการรัดอุดตันของท่อรังไข่ การส่องตรวจและผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวชเพื่อแก้ไขให้อวัยวะในอุ้งเชิงกรานอยู่ในสภาพปกติจะช่วยให้มีบุตรได้ง่ายขึ้น ในรายที่เป็นมากจำเป็นต้องให้ยาระงับการสร้างฮอร์โมนจากรังไข่ร่วมด้วย หากตรวจพบปีกมดลูกเสียหายมาก หรือภายหลังการผ่าตัด 6 เดือนแล้วยังไม่ตั้งครรภ์ ให้พิจารณาทำเด็กหลอดแก้ว
ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ คืออะไร
ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ คืออะไร?
• คือการที่ตรวจอุลตราซาวด์พบลักษณะของรังไข่มีฟองไข่เล็กๆคล้ายถุงน้ำหลายใบ คนไข้มักมาด้วยเรื่องระดูไม่สม่ำเสมอ มีสิว และ/หรือมีขนดก ภาวะนี้จะมีฮอร์โมนเพศชายสูงกว่าผู้หญิงปกติทั่วไป ทำให้การสร้างไข่ไม่สมบูรณ์ ผนังมดลูกไม่แข็งแรง จึงตั้งครรภ์ยาก แต่แท้งบุตรง่าย เป็นสาเหตุของภาวะมีบุตรยากที่พบบ่อยที่สุด
การส่องตรวจและผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช จำเป็นหรือไม่
การส่องตรวจและผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช จำเป็นหรือไม่?
• จะตรวจในกรณีดังต่อไปนี้
1. ภาวะมีบุตรยากที่ไม่ทราบสาเหตุ
2. ล้มเหลวจากการฉีดเชื้อแล้ว 3 ครั้ง (สามีเชื้อแข็งแรงปกติ)
3. ตรวจพบมดลูกมีพังผืดยึดแน่น มีเนื้องอกในโพรงมดลูก หรือมีถุงน้ำรังไข่
สามีไม่มีตัวเชื้ออสุจิ ทำอย่างไร
สามีไม่มีตัวเชื้ออสุจิ ทำอย่างไร?
• ปัจจุบันพบปัญหานี้มากขึ้น แก้ไขโดย
1. ใช้เชื้ออสุจิบริจาค แล้วฉีดเชื้อผสมเทียม หรือทำเด็กหลอดแก้ว
2. หากต้องการใช้เชื้อสามี ต้องตรวจดูขนาดของลูกอัณฑะและท่ออสุจิ ฮอร์โมนเพศชาย และอาจต้องตรวจโครโมโซม ซึ่งอาจพบความผิดปกติได้ถึง 33% ในรายที่ท่ออสุจิมีการอุดตัน แพทย์สามารถหาตัวอสุจิได้โดยการเจาะดูดจากท่ออสุจิ (PESA) หรือเจาะดูดจากลูกอัณฑะโดยตรง (TESA) แล้วนำไปทำเด็กหลอดแก้วโดยวิธีอิ๊กซี่ต่อไป